มมส. ยันไม่ให้ทุน น้องโวลต์ เรียนต่อแพทย์

มมส. ยันไม่ให้ทุน น้องโวลต์ เรียนต่อแพทย์

ผศ. นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชี้แจงถึงคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะแพทยศาสตร์ทุกท่าน กรณี นางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือ น้องโวลต์ โดยระบุว่า จากกรณีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อและสังคมออนไลน์ของนางสาวณัฐวดี ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2564 ที่ครอบครัวประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ตามที่สื่อนำเสนอไปแล้วนั้น จะขอลำดับเหตุการณ์ให้ทุกคนได้ทราบดังนี้

ข้อ 1 วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ช่วงบ่าย) คณะฯ ดำเนินการสอบสัมภาษณ์ผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิ์เข้ารับการสอบสัมภาษณ์ ผ่านระบบออนไลน์

ข้อ 2 วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ช่วงเย็น) คณะฯ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต บนเว็บไซต์ของคณะฯ

ข้อ 3 วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 สื่อท้องถิ่นนำเสนอข่าวการสอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามของนางสาวณัฐวดี เพื่อขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากผู้มีจิตเมตตา ทั้งนี้ "คณะแพทยศาสตร์ไม่ทราบเรื่องการขอรับความช่วยเหลือดังกล่าว" แต่อย่างใด

ข้อ 4 วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะแพทยศาสตร์ ได้รับการติดต่อจากองค์กร มูลนิธิ และผู้มีจิตเมตตาหลายท่าน แสดงความประสงค์บริจาคทุนการศึกษาให้นางสาวณัฐวดี ซึ่งทางคณะฯ ได้ตอบปฏิเสธผู้มีจิตเมตตาทุกท่านในขณะนั้น เนื่องจากยังไม่ถึงวันยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา (10-11 พฤษภาคม 2564) และยังไม่ได้มีการสัมภาษณ์นิสิตเพื่อพิจารณาทุน

ข้อ 5 วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประสานคณะแพทยศาสตร์ ขอพบนางสาวณัฐวดี เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของครอบครัวและจะได้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม เนื่องจากมีกระแสคำถามบนสังคมออนไลน์เกี่ยวกับทุนการศึกษาสำหรับเด็กเรียนดีแต่ยากจน ของคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ข้อ 6 วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ภาคเช้า) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ ได้พบนิสิต มารดา และคณาจารย์โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อมูล จึงได้ทราบว่ามียอดเงินบริจาคในขณะนั้น จำนวน 2.7 ล้านบาท (ซึ่งนางสาวณัฐวดีมีความตั้งใจที่จะปิดบัญชีรับบริจาคตั้งแต่วันจันทร์ แต่เป็นวันหยุดราชการ)

ทางคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมใด ๆ แต่ได้ให้คำแนะนำในการวางแผนการใช้จ่ายตลอดการศึกษา ซึ่งทางคณะฯ ได้รายงานข้อมูลให้ผู้มีจิตเมตตาที่แสดงความประสงค์บริจาคทุนไว้ก่อนหน้านี้เพื่อทราบ ท่านได้พิจารณาและแสดงความจำนงบริจาคทุนให้แก่นางสาวณัฐวดีเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา จำนวน 80,000 บาท ผ่านกองทุนการศึกษาและพัฒนานิสิตคณะแพทยศาสตร์

ข้อ 7 วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ภาคบ่าย) คณะแพทยศาสตร์ทราบว่า นางสาวณัฐวดี เดินทางไปปิดบัญชีที่ธนาคาร

ข้อ 8 วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะฯ ได้ทราบกระแสข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปิดรับบริจาคเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 64 ทางคณะฯ ติดตามและรวบรวมข้อมูล

ข้อ 9 วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะฯ ประชุมเพื่อหาแนวทางตรวจสอบข้อเท็จจริง

ข้อ 10 วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ภาคบ่าย) ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์ ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านนางสาวณัฐวดี อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ พบสภาพบ้านพักอาศัยมีขนาดเล็ก ไม่เป็นสัดส่วน ไม่มีประตูบ้าน สภาพบ้านไม่ปลอดภัย

สำหรับการวางแผนการใช้เงินบริจาค ทราบว่านางสาวณัฐวดีจะเขียนแผนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต นำเสนอให้คณะกรรมการซึ่งนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์จะเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ "คณะแพทยศาสตร์ไม่มีแผนให้ทุนการศึกษาแก่นางสาวณัฐวดีเพิ่มเติม" แต่อย่างใด เนื่องจากเงินบริจาคมีจำนวนเพียงพอ อนึ่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีแนวทางการพิจารณาช่วยเหลือนิสิตระดับปริญญาตรีที่ประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ทุกหลักสูตร

อย่างไรก็ตาม บนสื่อสังคมออนไลน์ยังคงมีข้อสงสัยในประเด็นอื่น "ทางคณะแพทยศาสตร์ จะดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและประชุมพิจารณากันต่อไป"

ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มีความเป็นห่วงต่อปัญหาการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว เสนอให้ผู้ติดตามข่าวสารไตร่ตรองข้อมูล/ข้อความต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ รับฟังความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างของผู้อื่น วิเคราะห์วิจารณ์ด้วยเหตุผล และหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ