สรุปให้แล้ว ร้านค้าเข้าร่วมโครงการรัฐ ต้องเสียภาษียังไง ยอดเท่าไหร่ถึงต้องจ่าย

สรุปให้แล้ว ร้านค้าเข้าร่วมโครงการรัฐ ต้องเสียภาษียังไง ยอดเท่าไหร่ถึงต้องจ่าย

เป็นประเด็นที่ถูกถามถึงเป็นจำนวนมาก สำหรับ พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน เพราะช่วงก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ผู้ค้าบางรายถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากโครงการคนละครึ่ง แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่ แล้วร้านค้าทั่วไปต้องเสียภาษีไหม ถ้าเสียจะต้องจ่ายภาษีอย่างไร

อย่างแรกเลย ต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่าการที่ร้านค้าจะเสียภาษีหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน หรือโครงการใด ๆ ของภาครัฐ เพราะตามกฎหมายทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบเสียภาษี

ในส่วนของพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ รายย่อย ก็ไม่ต่างกัน เพราะถือเป็นคนไทยที่มีรายได้ โดยรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็คือยอดรวมที่ร้านค้าขายสินค้าได้จากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นขายโดยตรง ขายของออนไลน์ รวมทั้งยอดขายจากแอปฯ ถุงเงินที่ได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ตลอดทั้งปีภาษีนั้น

ขายของได้เงินเท่าไร ถึงต้องยื่นภาษี

ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร คนที่ต้องยื่นภาษีต้องมีรายได้ดังนี้

คนโสด : ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้จากการค้าขายในปีนั้น 60,000 บาทขึ้นไป

คนที่สมรสตามกฎหมายแล้ว : ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้จากการค้าขายในปีนั้น 120,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ แม้บางคนอาจจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ดังกล่าวก็ควรต้องยื่นภาษีทุกปี

ภาษีที่ร้านค้า-คนขายของต้องจ่ายมีอะไรบ้าง

ในทีนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะคนขายของที่เป็นบุคคลธรรมดานะคะ ซึ่งเมื่อขายสินค้าหรือบริการแล้วได้เงินจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ ซึ่งคนขายจะต้องยื่นภาษีต่อไปนี้ทุกปี

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90)

การเสียภาษีจะอิงตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป คือ มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทต่อปีขึ้นไป จะเสียภาษี 5% หรือหากมีรายได้สุทธิมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี 35% advertisement

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตกอกตกใจว่าขายของได้เยอะก็ต้องถูกหักเยอะตามตารางนี้เลยหรือ เพราะเราต้องนำรายได้ที่ขายของได้ทั้งหมดมาหักค่าใช้จ่ายก่อน ถึงจะนำไปคำนวณภาษีค่ะ ซึ่งค่าใช้จ่ายคิดได้ 3 วิธี คือ

แบบเหมา 60% : สำหรับธุรกิจ 43 ประเภท เช่น การขายอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ รวมทั้งร้านค้าที่รับของมาขายอีกที ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง จะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของรายได้ หรือก็คือการนำ 40% ของรายได้ทั้งหมดไปคิดภาษี (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมธุรกิจ 43 ประเภทที่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ มีอะไรบ้าง)

แบบตามจริง : สำหรับร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มธุรกิจ 43 ประเภท หรือขายของที่ผลิตเอง จะต้องหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง ซึ่งกรณีนี้จำเป็นต้องเก็บใบเสร็จ เอกสารแสดงรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษี

แบบเหมาจากยอดขายในอัตรา 0.5% : สำหรับร้านที่มีรายได้เกิน 1,000,000 บาท แต่วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมใช้ เพราะจะคิดภาษีได้สูงกว่าวิธีอื่น ๆ

ทั้งนี้ นอกจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว พ่อค้า-แม่ค้ายังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย โดยสามารถนำค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาหักลบรายได้ แล้วค่อยนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป โดยยื่นภาษี ภายในวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคมของปีถัดไป กรณียื่นผ่านออนไลน์จะขยายเวลาไปอีก 8 วัน สรุปก็คือ พ่อค้า-แม่ค้า ทั้งคนมีหน้าร้าน หรือขายของออนไลน์ แม้จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เราชนะ แต่ถ้าขายของได้ มีรายได้เข้ามาถึงเกณฑ์ ก็ต้องเสียภาษีตามหน้าที่

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ