อาจารย์เจษฎ์ สวนเงิบโต้ทฤษฎี ชาร์ล ดาร์วิน ของ โจ นูโว มั่วนิ่มสุดๆ

อาจารย์เจษฎ์ สวนเงิบโต้ทฤษฎี ชาร์ล ดาร์วิน ของ โจ นูโว มั่วนิ่มสุดๆ

จากกรณีนักร้องชื่อดัง จิรายุส วรรธนะสิน โจ นูโว เจ้าตัวโพสต์ภาพผู้คนไปกักตุนเหล้าตามห้างสรรพสินค้าเป็นจำนวนมาก ก่อนวันที่รัฐสั่งห้ามขายเพียง 1 วัน จากนั้นได้มีคนเข้าไปคอมเมนต์มากมาย เพื่อบอกเล่าสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นกับคนไทย ทั้งเรื่องการค้าขายไม่ได้ ตกงาน ไม่มีงานทำ หลายคนถึงขนาดตั้งคำถามว่า พรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน

โพสต์

และเช่นเคย นักร้องชื่อดัง ก็ได้คอมเมนต์ตอบโต้ประชาชนที่มาระบายความทุกข์ดังกล่าว เช่น ตายได้ ตายไปเลยครับ เดี๋ยวตามไป / อยากขายอะไรที่ไหน ยังไงมีคนเดินซื้อมั้ย สันดานคนไทยไปเที่ยวไม่กักตัวไปดูมวย ดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน บานปลาย วินัยไม่มี คนดีๆซวยเป็นแถว

เป็นทุกจุดบนโลก ธรรมชาติคัดสรร ใครควรอยู่ใครควรตาย อยู่ที่ตัวมุนษย์เอง ระหว่างจะตกปลากินเอง หรือจะนอนเตียงโรงบาล งดขายสุรา รวยกันขึ้นมาทันที ตอนไข่แพงบ่นกันน่าดู เป็นต้น

ตามนี้

หลังจากที่ ‘โจ นูโว’ ได้ไปตอบคอมเมนต์สวนชาวเน็ตโดยยกทฤษฎีของ ชาร์ส ดาร์วิน ตามที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด อ.เจษฎา เด่นดวงบริพินธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัยและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ยกทฤษฎีดังกล่าวขึ้นมาสวนนักร้องนำวง นูโว ยืนยันว่า ที่ โจ นูโว เอามานั้นมั่วสุด ๆ และนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ไม่เคยได้กล่าวไว้แบบนั้นเลย

มาทำความเข้าใจ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ของชาร์ล ดาร์วิน กันให้ถูกต้องครับ ตอนนี้มีประเด็นดราม่ากันเกิดขึ้น เนื่องจากมีคนพูดทำนองว่า ในสถานการณ์วิกฤตโรคโรคโควิด-19 ระบาดนี้ ใครลำบาก มันก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยตัวเอง ตายได้ตายไปเลย ธรรมชาติจะคัดสรรผู้ที่อยู่รอดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตามทฤษฎีชาร์ล ดาร์วิน

จริงๆ แล้ว ลักษณะประโยคอย่างที่พูดมานั้น ไม่ได้ตรงตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน แต่เป็นแนวคิดที่เรียกว่า Social Darwinism ซึ่งเกิดขึ้นในยุคทศวรรษที่ 1870s อ้างว่าเป็นการเอาหลักชีววิทยาของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ natural selection และการอยู่รอดของผู้ที่ปรับตัวได้ดีกว่า survival of the fittest มาประยุกต์ใช้กับเรื่องรัฐศาสตร์สังคมวิทยา

ผู้ที่นิยมแนวคิดนี้ เชื่อว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่า ก็ควรจะมีอำนาจและทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่า ก็ควรจะมีอำนาจและทรัพย์สมบัติลดลง แนวคิด Social Darwinism ได้ถูกเอาไปอ้างกันมากในหลายๆ กลุ่มเพื่อสนับสนุนความเชื่อของกลุ่มตน ไม่ว่าจะเป็นพวกทุนนิยม พวกยูเจนิกส์ eugenics พวกเหยียดเชื้อชาติ พวกจักรวรรดินิยม พวกฟาสซิสต์ พวกนาซี หรือแม้แต่เวลาที่มีการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มชน

แต่ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วินนั้น ดาร์วินตั้งใจจะใช้เพื่ออธิบายความหลากหลาย และการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่มุ่งไปที่การต่อสู้กันของสังคมมนุษย์ อย่างที่เอาไปอ้างกัน

ยิ่งกว่านั้น ดาร์วินไม่ได้นิยามคำว่า สิ่งมีชีวิตตัวที่ fittest นั้น ว่าคือตัวที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นตัวที่เข้าได้กับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และได้ขยายไปถึงตัวที่ทำงานร่วมมือกับตัวอื่นได้ ในกรณีของสัตว์สังคมหลายๆ ชนิด ตามหลักที่ว่า struggle is replaced by co-operation การแก่งแย่งดิ้นรน จะถูกแทนที่ด้วยการร่วมมือกัน !!

ดาร์วินได้เคยคาดการณ์ไว้แล้วว่า คำว่า การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่เขากำลังนำเสนอแก่วงการวิทยาศาสตร์นั้น อาจจะสูญเสียความหมายที่ถูกต้องของมันไป ถ้าถูกเอาไปใช้ในมุมที่แคบๆ ว่าคือการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว เพียงเพราะตั้งใจจะให้ตัวเองอยู่รอด

ดาร์วินเขียนไว้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ Origin of Species กำเนิดสปีชีส์ อันโด่งดังของเขา ระบุถึงความหมายของคำดังกล่าวว่า “เป็นสำนึกในมุมกว้างและอุปมาอุปไมย ที่จะครอบคลุมถึงการที่สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งจะพึ่งพากับอีกตัวหนึ่ง และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะครอบคลุม ไม่ใช่เฉพาะการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตตัวนั้น แต่รวมถึงความสำเร็จในการที่จะมีลูกหลานสืบต่อไปด้วย จาก Origin of Species บทที่ 3 หน้าที่ 62 ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 1

ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งตามมาของชาลส์ ดาร์วิน คือ The Descent of Man ดาร์วินได้เขียนเน้นหนักหลายหน้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่กว้างขึ้นและถูกต้องของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ดาร์วินชี้ให้เห็นว่า ในสังคมของสัตว์สารพัดชนิด เรากลับไม่พบการดิ้นรนแก่งแย่งกันเองของสัตว์แต่ละตัว แต่กลับถูกแทนที่ด้วยการทำงานร่วมกัน และพัฒนาไปสู่ศักยภาพด้านสติปัญญาและจริยธรรม ที่ช่วยให้สัตว์สปีชีส์นั้นอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดที่จะอยู่รอดได้

ดาร์วินอธิบายว่า ในกรณีดังกล่าวนั้น คำว่า fittest ไม่ได้หมายถึง ตัวที่แข็งแรงที่สุดทางกายภาพ แต่หมายถึงตัวที่เรียนรู้ที่จะรวมตัวพึ่งพากัน เพื่อช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งตัวที่แข็งแรงและตัวที่อ่อนแอ เพื่อประโยชน์สุขของทั้งสังคม

ดาร์วินเขียนว่า สังคม ซึ่งมีสมาชิกที่เห็นอกเห็นใจกัน เป็นจำนวนมากที่สุด จะเติบโตรุ่งเรืองที่สุด และจะมีลูกหลานเป็นจำนวนมากที่สุดด้วย จากฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 163

ดังนั้น คำว่า การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งแรกเริ่มจากมุมมองแคบๆ ของการต่อสู้แข่งขันกันตามแนวคิดของ มัลธัส Malthus นักเศรษฐศาสตร์ในยุคของดาร์วิน ได้สูญเสียความแคบนั้นไป เมื่ออยู่ในจิตใจของคนที่เข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง

สรุปง่ายๆ ว่า อย่าเอาแนวคิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ของชาร์ล ดาร์วิน มาอ้างกันมั่วๆ เพื่อปฏิเสธเรื่องที่คนเราควรจะช่วยเหลือกันในสังคม

ขอบคุณที่มาจาก Jessada Denduangboripant จ้องสืบพันธุ์

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ