บักหล่ามาทางนี้ มาเหยียบผ้าให้ยายหน่อย เมื่อครั้ง ยายคนหนึ่งปูผ้าห่มให้ ในหลวง ร.9 ทรงประทับรอยพระบาท

บักหล่ามาทางนี้ มาเหยียบผ้าให้ยายหน่อย เมื่อครั้ง ยายคนหนึ่งปูผ้าห่มให้ ในหลวง ร.9 ทรงประทับรอยพระบาท

ย้อนอดีตเมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสาน เมื่อปี ๒๔๙๘ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตื่นเต้นยินดีแก่ราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ด้วยยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรอย่างทั่วถึงเช่นนี้มาก่อน ทั้งในขณะนั้นภาคอีสาน ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทุรกันดาร และเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยอีก

ถึงอำเภอยโสธร (ขณะนั้นเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี) เป็นแห่งแรก ส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้จัดเตรียมซุ้มรับเสด็จไว้เป็นระยะตลอดเส้นทาง และยังได้จัดเตรียมปะรำสำหรับประชาชนที่จะรอรับเสด็จทุกที่ โดยเฉพาะปะรำกลางสนามหน้าศาลากลางจังหวัด

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ว่า หากดูจากทางอากาศจะเห็นปะรำนั้นเป็นอักษรย่อพระปรมาภิไธย แต่ถึงจะมีการเตรียมการอย่างดีเมื่อถึงวันเสด็จพระราชดำเนิน ปะรำเหล่านั้นก็ไม่พอแก่จำนวนราษฎรเรือนหมื่นเรือนแสนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยความจงรักภักดี

แม้การสื่อสารในยุคนั้นจะยังไม่ทันสมัย แต่การกระจายข่าวแบบ ปากต่อปาก ก็ได้ทำให้ราษฎรรับรู้กันอย่างรวดเร็ว ทั่วถ้วนยิ่งกว่าพลังจากสื่อประเภทต่างๆ คนที่อยู่บ้านไกลก็เตรียมตัวเดินทางล่วงหน้าหลายวัน ด้วยเกรงว่าจะไปไม่ทัน คนบ้านใกล้ก็เตรียมโต๊ะบูชาประดับป้ายผ้า ธงทิว แทบทุกคนเตรียมผ้าขาว ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าต่างๆ มาเตรียมไว้สำหรับให้ในหลวงประทับรอยพระยุคลบาทเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคล

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้บันทึกไว้อีกว่า คุณยายคนหนึ่งปูผ้าห่มรอไว้ให้ทรงประทับรอยพระยุคลบาทครั้นเห็นว่าเสด็จฯ เลยไปแล้ว คุณยายจึงร้องทูลว่า บักหล่ามาทางนี้ มาเหยียบผ้าให้ยายหน่อย เมื่อทรงได้ยินเสียงคุณยายก็แย้มพระโอษฐ์ แล้วเสด็จฯมาประทับรอยพระบาทให้ เมื่อเสด็จผ่านไปแล้วคุณยายพับผ้าขึ้นจบหน้าผาก แล้วหันไปยิ้มกับคนข้างๆพลางรำพึงรำพันว่า ว่าง่าย น่ารัก

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ