ความหวังหมู่บ้าน ดอกลำเจียกโบราณ ที่บานในรอบ 1300 ปี

ความหวังหมู่บ้าน ดอกลำเจียกโบราณ ที่บานในรอบ 1300 ปี

หลังจากที่ได้มีการนำเสนอข่าวดอกลำเจียกบานในรอบ 1,300 ปี ออกดอกเป็นสีเหลือง ท่ามกลางดงของต้นลำเจียกสีเขียว เพียงดอกเดียว อยู่บริเวณข้างสระบัว ที่ปราสาทภูมิโปน ซึ่งเป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีอายุกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บ้านภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ซึ่งชาวบ้านเชื่อตามตำนานว่า พระนางศรีจันทรา หรือ ราชวงศ์พระจันทร์ เจ้าหญิงแห่งภูมิโปน ได้ปลูกต้นลำเจียกเสี่ยงทายก่อนที่พระนางจะถูกจับจากภูมิโปนไปเป็นมเหสีของกษัตริย์แห่งนครนายพราน (จยาธปุระ) ถ้านางไม่ได้กลับ ขอให้ต้นลำเจียกอย่าออกดอก นับแต่นั้นมา ต้นลำเจียกที่นี่ไม่เคยออกดอกอีกเลย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาดอกลำเจียกก็ไม่เคยบานอีกเลยกว่า 1,300 ปี

นอกจากนี้มีเรื่องราวจากชาวบ้านภูมิโปนแห่งนี้ ที่เล่ากันว่า เมื่อประมาณปี 2531 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรชมปราสาทภูมโปนและเยี่ยมเยือนราษฎร ในพื้นที่ และเกิดปรากฏการณ์ดอกลำเจียกส่งกลิ่นหอมลอยโชยคละคลุ้งทั่วบริเวณปราสาทภูมิโปนจนชาวบ้านรู้สึกแปลกใจ แต่ก็ไม่มีใครพบเห็นดอกลำเจียกบานแต่อย่างใด

และการบานของดอกลำเจียกในครั้งนี้ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นการบานต้อนรับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาในพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงต้นเดือน ก.ค.64 นี้

หลังจากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น พบว่าช่วงวันหยุดวันอาทิตย์ มีประชาชนและนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางมาชมและกราบไหว้ดอกลำเจียกอย่างคึกคักตลอดทั้งวันเป็นพิเศษ เนื่องจากใกล้ที่จะถึงวันที่สลากกินแบ่งรัฐบาลจะออกรางวัล จึงพากันนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้บูชา พร้อมจุดธูปจีนเสี่ยงทายตัวเลขกันจำนวนมาก และพบว่าธูปนั้นปรากฏตัวเลขที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่จะถือโอกาสเดินชมปราสาทภูมิโดยรอบบริเวณด้วยบรรยากาศที่คึกคักอย่างยิ่ง ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายล็อตเตอรี่ ก็พากันมาตั้งแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกันอย่างคึกคักเช่นกัน

สำหรับปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วย โบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้าง อย่างน้อย 2 สมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาท แบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าที่สุด ในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปี

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ