เปิดตัว วัคซีนโควิดชนิดDNA ตัวแรกของโลก 12-18 ปีฉีดได้

เปิดตัว วัคซีนโควิดชนิดDNA ตัวแรกของโลก 12-18 ปีฉีดได้

หน่วยงานกำกับดูแลยาของอินเดียได้อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน "วัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA ตัวแรกของโลก" กับประชากรอายุ 12 ปีขึ้นไป

โดยวัคซีนดังกล่าวมีชื่อว่า "ไซคอฟดี (ZyCoV-D)" พัฒนาโดยบริษัทคาดิลาเฮลท์แคร์ (Cadila Healthcare) เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องฉีด 3 โดส ผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 อาสาสมัคร 28,000 คนในศูนย์ทดสอบมากกว่า 50 แห่ง ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันเป็นทางการระบุว่า มีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยโควิด-19 แบบแสดงอาการได้ 66% ของผู้ที่ได้รับวัคซีน

บริษัทคาดิลาวางแผนที่จะผลิตวัคซีนสัญชาติอินเดียตัวนี้ให้ได้ปีละอย่างน้อย 100-120 ล้านโดส ที่ผ่านมามีผลการทดลองในสัตวทดลอง พบว่าทำงานได้ดี แต่ในมนุษย์ยังต้องรอผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

บริษัทยังอ้างว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA ของตนนี้ได้รับการทดสอบในคนหนุ่มสาวอายุ 12-18 ปีในอินเดียประมาณ 1,000 คน พบว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในกลุ่มอายุนี้

การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของไซคอฟดียังเกิดขึ้นในช่วงที่อินเดียกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่ร้ายแรง ซึ่งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเชื่อว่า เป็นการยืนยันถึง "ประสิทธิภาพในการต่อต้านสายพันธุ์กลายพันธุ์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์เดลตาของวัคซีนไซคอฟดี

DNA เป็นโมเลกุลชนิดหนึ่งที่ส่งต่อข้อมูลทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูก โดยวัคซีน DNA เมื่อฉีดเข้าไป จะเข้าไปสอนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับไวรัส

วัคซีนโควิด-19 ไซคอฟดีใช้ "พลาสมิด" หรือวงแหวนเล็ก DNA เล็ก ๆ ซึ่งมีข้อมูลทางพันธุกรรมอยู่ เมื่อฉีดเข้าไป พลาสมิดจะนำข้อมูลไปยังเซลล์เพื่อสร้าง "โปรตีนหนาม" แบบเดียวกับที่ไวรัสโควิด-19 ใช้ในการเกาะและเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์

จากนั้นให้คำสั่งร่างกายสร้างชิ้นส่วนของโปรตีนหนาม เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผลิตแอนติบอดีและเรียนรู้การต่อสู้กับไวรัส ไซคอฟดีนับเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA ตัวแรกของโลก และยังเป็นวัคซีนโควิด-19 แบบไม่ต้องใช้เข็มตัวแรกของอินเดีย โดยใช้ตัวฉีดที่ส่งวัคซีนเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อได้เลย

วัคซีนโควิด-19 ไซคอฟดีสามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิ - 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส และอยู่ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสได้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งและจัดเก็บวัคซีนเป็นไปได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA นี้มีจุดที่ถูกตั้งข้อสงสัยอยู่ นั่นคือ ที่ผ่านมา วัคซีนชนิด DNA ที่พัฒนาขึ้นสำหรับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในมนุษย์ประสบความล้มเหลวมาตลอดในอดีต

โดยนักวิทยาศาสตร์มักพบว่า วัคซีน DNA สามารถทำงานได้ดีในสัตว์ แต่กลับไม่ได้ให้การป้องกันหรือการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในระดับเดียวกันเมื่อใช้ในมนุษย์

ความท้าทายของวัคซีน DNA คือทำอย่างไร จึงจะส่งกพลาสมิด DNA เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์เพื่อให้มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่คงทนได้ โดยมันจะให้ผลดีหากพลาสมิดสามารถเข้าไปถึงนิวเคลียสหรือแกนกลางของเซลล์ได้

ในขณะเดียวกัน เมื่อนำไปเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้สาร RNA ซึ่งเป็นโมเลกุลในการสร้างโปรตีน อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา กลับไม่จำเป็นต้องส่ง RNA เข้าไปถึงนิวเคลียสของเซลล์ก็มีประสิทธิภาพที่สูงได้เหมือนกันหรืออาจจะสูงกว่าด้วย

ข้อเสียเปรียบที่อาจเกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือ ไซคอฟดีต้องฉีดมากขึ้น 3 โดส แทนที่จะเป็นสองโดสอย่างวัคซีนตัวอื่น ๆ จึงอาจดูเป็นวัคซีนที่ได้ผลไม่คุ้มค่ากับความลำบากเท่าไร

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ