ปศุสัตว์ เตือนระวังเนื้อปลอมระบาดหนัก พบเชื้ออันตราย

ปศุสัตว์ เตือนระวังเนื้อปลอมระบาดหนัก พบเชื้ออันตราย

เมื่อวันที่ 19ตุลาคม นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ พ.ต.ท.เกียรติชัย แสงศิลา สว. ร.ต.อ.ศิษฎพงศ์ สิริวัฒน์ รอง สว.บก.ปคบ.และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ย่านคลองสามวา กทม.ตรวจสอบเนื้อสุกร ภายหลังมีผู้ร้องเรียนกับทางกรมปศุสัตว์ ว่าพบการลักลอบนำเนื้อสุกรปลอมแปลงให้เหมือนเนื้อวัว ออกจำหน่ายให้กับผู้บริโภค โดยพบว่ามีผู้ประกอบกิจการจำหน่ายเนื้อสัตว์ตัดแต่งเนื้อดังกล่าวจริง และมีการประกาศขายผ่านช่องทางออนไลน์ ลักษณะเป็นเนื้อแช่แข็ง ส่งไปยังร้านชาบู ร้านค้าเนื้อวัวและร้านอาหารอีสานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจพบคนงานกำลังตัดแต่งเนื้อสัตว์ มีทั้งเนื้อวัว เครื่องใน และเลือด 228 กิโลกรัม เนื้อสันคอวัวตัดแต่งเป็นก้อน ถุงละ 1 กิโลกรัม รวม 50 กิโลกรัม และเนื้อวัวนำเข้าจากประเทศอินเดีย 136 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงอายัดทั้งหมดไว้เก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ 8 รายการ ส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ และศูนย์วิทยาศาสตรฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เบื้องต้นทราบผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการ ว่ามีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย และตรวจสอบดีเอ็นเอสุกร 4 รายการ ได้แก่ ลิ้นเค็ม , สเต็กเนื้อ , เนื้อสันคอ และเนื้อสันคอวัว

อย่างไรก็ดี ทางพนักงานสอบสวน ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในความผิดตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์ 2558 และกฎหมายควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่าย 2559 ประกอบด้วย ฐานความผิดไม่แสดงเอกสารใบอนุญาตเคลื่อนย้าย(ร.4) ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ไม่สามารถแสดงเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ (รน) ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และไม่สามารถแสดงใบอนุญาตค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (ร.10/1) มีตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน และพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และเข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา , พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2562 ส่วนเนื้อสัตว์ของกลางจะถูกนำไปทำลายตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ อยากฝากไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนทั่วไป ขอให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการผลิตและสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ โดยกรมปศุสัตว์ สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการปศุสัตว์โอเค.หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเห็นการกระทำผิด สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทุกระบบ

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ