เช็กภาพอุณหภูมิแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 30 มี.ค.-2 เม.ย. สีแดงเถือก

เช็กภาพอุณหภูมิแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 30 มี.ค.-2 เม.ย. สีแดงเถือก

รายงานสภาพอากาศอีก 7 วันข้างหน้า จากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ พยากรณ์อากาศ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2564 - 4 เมษายน 2564 คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. 2 เม.ย. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเป็นบางพื้นที่ ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงตอนล่างจะเคลื่อนเข้ามาบริเวณด้านทะเลอันดามัน

ในช่วงวันที่ 30 ม.ค. – 2 เม.ย. 64 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 2 เม.ย. 64 โดยมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกเป็นบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะเริ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ส่วนภาคใต้ ลมตะวันออกพัดปกคลุมทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น ภาคใต้ฝั่งตะวันตกฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

เล็งสีแดงเข้ม อุณหภูมิตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ! พยากรณ์ช่วงร้อนของแต่ละวัน 30 มี.ค. - 2 เม.ย. รูปนี้แสดงพยากรณ์อุณหภูมิ เวลา 15.00 น. ของแต่ละวัน

สีในแผนที่

สีเหลือง: อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศา

สีส้ม: อุณหภูมิตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป แต่ต่ำกว่า 35 องศา

สีแดง: อุณหภูมิตั้งแต่ 35 องศาขึ้นไป แต่ต่ำกว่า 38 องศา

สีแดงเข้ม: อุณหภูมิตั้งแต่ 38 องศาขึ้นไป

บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด

ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. – 2 เม.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูและสุขภาพเนื่องจากอากาศที่ร้อนไว้ด้วย สำหรับภาคใต้ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร ไว้ด้วย

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ